การกำกับดูแลกิจการ

กระบวนการกำกับดูแลกิจการ

เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทฯ จัดการให้มีโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการธุรกิจที่ดีและมีความสัมพันธ์กันระหว่างคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ ผู้ถือหุ้น และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ บนพื้นฐานการบริหารจัดการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในความถูกต้อง การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส รับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ รับผิดและรับชอบในผลการปฏิบัติงาน ซึ่งการกำกับดูแลกิจการที่ดี สามารถเพิ่มมูลค่าของกิจการ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างคุณค่าร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

1. โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ

ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ และฝ่ายจัดการ ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในความเป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการให้ทำหน้าที่แทนตนและมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของบริษัทฯ คณะกรรมการเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นในการกำหนดทิศทางขององค์กร แต่งตั้งและกำกับดูแลฝ่ายจัดการ โดยต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ความสามารถและจรรยาบรรณ ในการนำบริษัทฯ และตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ

1.1 ผู้ถือหุ้น

ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในความเป็นเจ้าของโดยควบคุมบริษัทฯ ผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการให้ทำหน้าที่แทนตนและมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของบริษัทฯ จึงมีแนวทางการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตน สะท้อนถึงการเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น

สิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

✓ ซื้อ/ขาย/โอน หุ้น

✓ ประชุมผู้ถือหุ้น

✓ แต่งตั้ง/ถอดถอน/กำหนดค่าตอบแทน กรรมการ

✓ แต่งตั้ง/กำหนดค่าตอบแทน ผู้สอบบัญชี

✓ ลงคะแนนเสียงความเห็นชอบในที่ประชุม

✓ รับทราบข้อมูลและข่าวสารที่มีนัยสำคัญของบริษัทฯอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ และทันเวลา

✓ แสดงความคิดเห็นและซักถามในการประชุม

การประชุมผู้ถือหุ้น

การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะจัดขึ้นภายใน 4 เดือน นับตั้งแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาวาระพิเศษในเรื่องที่อาจกระทบกระเทือน หรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ สามารถเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นได้เป็นกรณีไป

การจัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นนี้ บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามแนวทางของโครงการประเมินคุณภาพการจัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น (AGM Checklist) ที่จัดทำขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เพื่อให้การจัดงานมีมาตรฐานเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการ ดังนี้

  1. บริษัทฯ จะต้องส่งเอกสารให้ผู้ถือหุ้นรับทราบข้อมูล วัน เวลา สถานที่และวาระการประชุม ตลอดจนข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคนได้ทราบเป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน และต้องเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ ก่อนมอบให้บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นนายทะเบียนหุ้นของบริษัทฯ เป็นผู้จัดส่งหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นและเอกสารประกอบให้กับผู้ถือหุ้นทุกราย เป็นการล่วงหน้าก่อนวันประชุมอย่างน้อย 7 วัน
  2. บริษัทฯ จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่งคำถามเป็นการล่วงหน้าก่อนวันประชุมในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคมของทุกปีและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนด ซึ่งได้เผยแพร่รายละเอียดในเว็บไซต์ของบริษัทฯที่ www.muangthaicap.com
  3. ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง บริษัทฯ เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระหรือบุคคลใด ๆ เข้าร่วมประชุมแทนตนได้ พร้อมทั้งจะเสนอชื่อกรรมการอิสระอย่างน้อย 1 คน เป็นทางเลือกในการมอบฉันทะของผู้ถือหุ้น
  4. บริษัทฯ ไม่เพิ่มวาระการประชุมหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้า
  5. คณะกรรมการบริษัทฯ สนับสนุนให้มีการใช้บัตรลงคะแนนเสียงในทุกวาระ รวมทั้งวาระการแต่งตั้ง กรรมการ เป็นรายบุคคล เพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้
  6. บริษัทฯ จะต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิในการเข้าร่วมประชุม และออกเสียงอย่างเต็มที่โดยจัดประชุมในวันทำการ ณ โรงแรมซึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพ และ/หรือห้องประชุมของบริษัทฯ และจัดเทคโนโลยีอย่างเพียงพอ สำหรับการตรวจสอบเอกสาร และจัดให้มีอากรแสตมป์สำหรับผู้ถือหุ้นที่รับมอบฉันทะ
  7. บริษัทฯ ได้จัดทำใบลงคะแนนเสียงแยกแต่ละวาระสำหรับการลงคะแนนเสียง เพื่อความสะดวกในการลงและนับคะแนน และประกาศคะแนนรวมทันทีในวันประชุม
  8. บริษัทฯ ไม่กระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการกำจัดสิทธิในการเข้าร่วมประชุมของผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นทุกคนย่อมมีสิทธิเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น ตลอดระยะเวลาการประชุม และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถาม ตลอดจนแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ได้ อย่างอิสระ
  9. เมื่อถึงเวลาเริ่มประชุม กรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง รวมทั้งผู้บริหารระดับสูง ผู้สอบบัญชี และที่ปรึกษากฎหมายอิสระ โดยก่อนเริ่มประชุม บริษัทฯ จะชี้แจงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมทั้งหมด อาทิ การเปิดประชุม และการออกเสียงลงคะแนน รวมทั้งวิธีการนับคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นที่จะต้องลงมติในแต่ละวาระตามข้อบังคับของบริษัทฯ
  10. บริษัทฯ ระบุการมีส่วนได้ส่วนเสียของกรรมการไว้ในหนังสือเชิญประชุม หากกรรมการท่านใดมีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาวาระใด ประธานที่ประชุม และ/หรือ เลขานุการบริษัท จะแจ้งให้ ผู้เข้าร่วมประชุมทราบก่อนการพิจารณาวาระ โดยกรรมการที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นจะไม่เข้าร่วมประชุมในวาระนั้นๆ
  11. บริษัทฯ เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นอาสาทำหน้าที่เป็นสักขีพยานในการนับคะแนนเสียง เพื่อความโปร่งใส รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสอบถามเกี่ยวกับกระบวนการและวิธีการลงคะแนนเสียง
  12. สนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถใช้สิทธิในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของตน โดยการซักถาม แสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะและออกเสียงร่วมกันตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อบริษัทฯ เช่น การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นกรรมการอิสระ การอนุมัติแต่งตั้งและกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี การจัดสรรเงินปันผล การลดทุนหรือเพิ่มทุน การกำหนดหรือแก้ไขข้อบังคับบริษัทฯ บริคณห์สนธิ และการอนุมัติรายการพิเศษ เป็นต้น
  13. จัดให้มีการประเมินคุณภาพการจัดประชุมผ่านการตอบแบบประเมินจากผู้ถือหุ้น เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาการจัดประชุมให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น โปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น
  14. การจัดแสดงข้อมูลที่สำคัญของบริษัทฯ บริเวณโดยรอบงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้น รวมทั้งจัดมุมนักลงทุนสัมพันธ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ คอยต้อนรับและตอบข้อซักถามต่างๆ

ในปี 2566 บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์(E-AGM) โดยถ่ายทอด ณ ห้องประชุมสุขสามัคคี บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เลขที่ 332/1 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ถือหุ้นมาประชุม ณ ขณะที่เริ่มการประชุม ดังนี้

ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

31

ราย

คิดเป็นจำนวนหุ้น

730,150,321

หุ้น

รับมอบฉันทะ

947

ราย

คิดเป็นจำนวนหุ้น

176,359,092

หุ้น

รวมทั้งสิ้น

978

ราย

คิดเป็นจำนวนหุ้น

906,509,413

หุ้น

คิดเป็น 42.76%

ในการประชุมผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 มีการอนุมัติงบการเงิน การจัดสรรกำไร การจ่ายเงินปันผล และอนุมัติการแต่งตั้งกรรมการที่ออกจากตำแหน่งตามวาระได้แก่ นางดาวนภา เพชรอำไพ และนายสุชาติ ศุภพยัคฆ์ ให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการอีกวาระหนึ่ง พิจารณาอนุมัติและกำหนดค่าตอบแทนกรรมการ โดยพิจารณาจากความรับผิดชอบและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ อนุมัติการแต่งตั้งผู้สอบและกำหนดค่าสอบบัญชี รวมถึงอนุมัติการเพิ่มวงเงินและเสนอขายหุ้นกู้ จำนวน 30,000 ล้านบาท

1.2 คณะกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ถือหุ้น ให้มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัทฯ รวมถึงการสั่ง การอนุมัติ และดูแลการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกลยุทธ์ และมีหน้าที่รับผิดชอบในการคัดเลือกประธานกรรมการบริหารและคณะผู้บริหารระดับสูงที่มีคุณภาพ และดูแลให้มีการสืบทอดตำแหน่งงานให้มีประสิทธิภาพ

จากความรับผิดชอบดังกล่าว บริษัทฯ จึงมีนโยบายในการคัดเลือกคณะกรรมการที่มีประสบการณ์และความสามารถหลากหลาย มีคุณลักษณะที่จำเป็น อาทิความซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นมืออาชีพ ตลอดจนความสามารถในการซักถามทำความเข้าใจเชิงวิเคราะห์ต่อธุรกิจของบริษัทได้อย่างเป็นอิสระ

โดยนอกเหนือจากการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการไม่เป็นผู้บริหารระดับสูงแล้ว ประธานกรรมการยังต้องเป็นกรรมการอิสระ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจระหว่าง คณะกรรมการบริษัทฯ และคณะผู้บริหารอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้แบ่งแยกบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการออกจากคณะผู้บริหารอย่างชัดเจน

หลักเกณฑ์การเลือกตั้งและถอดถอนกรรมการ

  1. ให้ผู้ถือหุ้นโดยมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น กำหนดจำนวนผู้ที่จะดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทฯ เป็นคราวๆ ไป โดยให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน โดยกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร และมีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายกำหนด
  2. การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรรมการให้เป็นตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อบังคับของบริษัทฯ
  3. ผู้เป็นกรรมการนั้นเฉพาะแต่ผู้ถือหุ้นในการประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้นที่จะแต่งตั้งหรือถอนได้ (ยกเว้นกรณีตำแหน่งว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามวาระ)
  4. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอาจลงมติให้กรรมการคนใดออกจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระได้ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียง และมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นที่ถือ

สำหรับการสรรหาคณะกรรมการ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน จะพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถ พร้อมทั้งคุณสมบัติที่เหมาะสม ภายใต้หลักเกณฑ์การสรรหาและแต่งตั้ง ซึ่งพิจารณาจากการเป็นผู้ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฏหมายและกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความหลากหลายของคณะกรรมการ (Board Diversity) โดยไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว ชาติพันธุ์ หรือศาสนา ตลอดจนความรู้และความชำนาญเฉพาะด้าน (Board Skill Matrix) ที่เป็นประโยชน์ สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เช่น การบัญชี การจัดการและกลยุทธ์ การจัดการทรัพยากรบุคคล การพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศ รวมถึงการจัดการความเสี่ยง เพื่อส่งเสริมให้องค์ประกอบของคณะกรรมการมีความหลากหลายเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายความหลายหลายของคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะเสนอชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนได้ทบทวนหลักเกณฑ์การสรรหากรรมการและตารางความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้าน เป็นประจำทุกปีเพื่อให้คณะกรรมการบริษัทมีองค์ประกอบที่หลากหลายตามแนวปฏิบัติที่ดี

คุณสมบัติของกรรมการบริษัทฯ

  1. คุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
    • - พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด
    • - พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
    • - สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
    • - ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
    • - ข้อบังคับของบริษัท
    • - หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท
  2. มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สามารถเอื้อประโยชน์และเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของบริษัท
  3. มีความอุตสาหะและสามารถอุทิศเวลาอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ การสรรหาผู้บริหารระดับสูง การสรรหากรรมการจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องและตามข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงคุณสมบัติที่มีความรู้ความสามารถ เหมาะสมกับวัฒนธรรม ภารกิจ วิสัยทัศน์และค่านิยมขององค์กร ทั้งนี้ การสรรหากรรมการจะมีกระบวนการและขั้นตอนที่ชัดเจนโปร่งใส และปฏิบัติตามหลักของการกำกับดูแลกิจการที่ดีสามารถตรวจสอบได้

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีกรรมการทั้งหมด 7 ท่าน ได้แก่

1. พลเรือเอกอภิชาติ

เพ็งสีทอง

ประธานกรรมการ / ประธานกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน / กรรมการอิสระ

2. นายชูชาติ

เพ็ชรอำไพ

ประธานกรรมการบริหาร / กรรมการบริหารความเสี่ยง / กรรมการ

3. นางดาวนภา

เพชรอำไพ

กรรมการผู้จัดการ / กรรมการ

4. นางกองแก้ว

เปี่ยมด้วยธรรม

ประธานกรรมการตรวจสอบ / ประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน / กรรมการอิสระ

5. นางนงนุช

ดาวาสุวรรณ

กรรมการตรวจสอบ / กรรมการบริหารความเสี่ยง / กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน / กรรมการอิสระ

6. นายสุชาติ

ศุภพยัคฆ์

ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง / กรรมการตรวจสอบ / กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน / กรรมการอิสระ

7. ดร.ศึกษิต

พัชรชัย

กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน / กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน / กรรมการ

แบ่งออกเป็นเพศชาย 4 ท่าน และเพศหญิง 3 ท่าน โดยประธานกรรมการเป็นกรรมการอิสระและเป็นคนละคนกับผู้นำบริษัทฯ สัดส่วนของกรรมการ อธิบายได้ดังนี้

เป็นกรรมการอิสระ จำนวน 4 ท่าน

คิดเป็นร้อยละ 57.14

เป็นกรรมการที่เป็นผู้บริหาร จำนวน 2 ท่าน

คิดเป็นร้อยละ 28.57

เป็นกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร จำนวน 5 ท่าน

คิดเป็นร้อยละ 71.43

ความเป็นอิสระของคณะกรรมการจากฝ่ายบริหาร

คณะกรรมการจะต้องวินิจฉัย แสดงความคิดเห็น และออกเสียงในกิจการที่คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจ หากตกอยู่ภายใต้ภาวะกดดัน จากหน้าที่การงานหรือครอบครัว หรือมีส่วนได้ส่วนเสียย่อมบิดเบือนการตัดสินใจให้ตัดสินเข้าข้างตนเอง คนใกล้ชิด หรือเพื่อประโยชน์ของตนเอง ความเป็นอิสระของกรรมการ จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่ง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ของผู้ถือหุ้น กรรมการที่ขาดความเป็นอิสระ จึงไม่ควรทำหน้าที่ตัดสินใจ

คณะกรรมการบริษัทฯ และฝ่ายบริหารมีการแบ่งแยกบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล และสอบทานการบริหารงาน โดยคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบนโยบายภาพรวม เช่น วิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ในการดำเนินงาน นโยบายกำกับดูแลกิจการและวัตถุประสงค์ทางการเงินโดยรวม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย รวมถึงการติดตาม ประเมินผล และดูแลการรายงานผลการดำเนินงาน ในขณะที่ฝ่ายบริหารจะมีหน้าที่ในการบริหารงานตามนโยบายที่กำหนดโดยคณะกรรมการ

คุณสมบัติของกรรมการอิสระ

  1. ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 0.5 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทและบริษัทย่อย*
  2. ไม่เป็น หรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารพนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำหรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท*
  3. ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือการจดทะเบียนตามกฎหมายของผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุม
  4. ไม่มี หรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และผู้ถือหุ้นของบริษัท หรือผู้มีอำนาจควบคุม* ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน
  5. ไม่เป็น หรือเคยเป็นผู้สอบบัญชี และผู้ถือหุ้นที่มีนัยของสำนักงานสอบบัญชี ของบริษัท หรือผู้มีอำนาจควบคุม*
  6. ไม่เป็น หรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพ และผู้ถ้อหุ้นที่มีนัย รวมถึงบริการที่ปรึกษากฎหมายและการเงินซึ่งได้รับ ค่าบริการเกินกว่า 2 ล้านบาทต่อปีจากบริษัท หรือผู้มีอำนาจควบคุม*
  7. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการ ของบริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่
  8. ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัท หรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่มีนัย หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงานลูกจ้าง พนักงานที่ปรึกษาที่รับเงินเดือนประจำ หรือถือหุ้นเกิน 1% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอันซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัท หรือบริษัทย่อย
  9. ไม่มีลักษณะอันใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระ เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท

*เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี ทั้งนี้ ลักษณะต้องห้ามดังกล่าวไม่รวมถึงกรณีที่กรรมการอิสระเคยเป็นข้าราชการหรือที่ปรึกษาของส่วนราชการ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทฯ

  1. มีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ ตลอดจนมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ
  2. จัดให้มีรายงานประจำปี งบดุล งบกำไร-ขาดทุน ณ วันสิ้นสุดรอบบัญชี เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาและอนุมัติ เพื่อแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา
  3. กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย กลยุทธ์ และเป้าหมายของบริษัทฯ และพิจารณาให้ความเห็นชอบทิศทางในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปจัดทำแผนธุรกิจ แผนสนับสนุน และงบประมาณประจำปี
  4. จัดให้มีการอภิปราย และแสดงความคิดเห็นของฝ่ายบริหารอย่างอิสระ เพื่อกำหนดกรอบทิศทาง องค์กร และเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ
  5. ติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนนโยบาย และงบประมาณอย่างต่อเนื่อง
  6. จัดให้มีระบบงานบัญชี การรายงานทางการเงินที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และการสอบบัญชีที่เชื่อถือได้ รวมทั้งจัดให้มีระบบควบคุมภายในและระบบตรวจสอบภายในที่เพียงพอและเหมาะสม
  7. กำหนดนโยบายด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ให้ครอบคลุม ทั้งองค์กร และกำกับดูแลให้มีระบบหรือกระบวนการในการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยมีมาตรการรองรับ และวิธีควบคุมเพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทฯ อย่างเหมาะสม
  8. กำหนดนโยบายเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงจัดให้มีแนวปฏิบัติ เพื่อให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  9. กำหนดโครงสร้างการบริหารงาน มีอำนาจในการแต่งตั้ง และกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่คณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการอื่นตามความเหมาะสม
  10. ประเมินผลงานประจำปีของผู้บริหารสูงสุด (CEO)

การประชุมคณะกรรมการ

  1. จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานเป็นประจำอย่างน้อยคราวละ 3 เดือนต่อครั้ง และอาจมีการประชุมพิเศษเพิ่มเติมตามความจำเป็น โดยกำหนดวาระการประชุมอย่างชัดเจนและมีการส่งหนังสือนัดประชุมล่วงหน้า 7 วัน รวมทั้งได้มีการจดบันทึก จัดเก็บ รับรองรายงานการประชุม และสามารถตรวจสอบได้
  2. จัดให้มีการประชุมหารือระหว่างกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้ สามารถอภิปราย พิจารณากลยุทธ์และการดำเนินงานของบริษัทฯ ได้อย่างเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการ
  3. ประธานคณะกรรมการบริษัทฯ และประธานกรรมการบริหารมีหน้าที่ร่วมกันกำหนดวาระการประชุม โดยเปิดโอกาสให้กรรมการท่านอื่นได้ร่วมพิจารณาก่อนการบรรจุวาระและส่งหนังสือเชิญประชุม
  4. กรรมการมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ โดยต้องมีสัดส่วนการเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยร้อยละ 75 ของการประชุมทั้งปี และจำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2 ใน 3
  5. รายงานการประชุม มีการระบุ วัน เวลา ที่เริ่มและเสร็จสิ้นการประชุม รายชื่อกรรมการที่เข้าร่วม และไม่ได้เข้าร่วม ข้อสรุปของวาระ ประเด็นที่อภิปราย และข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมการ รวมถึงคำชี้แจงของฝ่ายจัดการ มติของคณะกรรมการอย่างละเอียด พร้อมลงลายมือชื่อของประธานในที่ประชุม ในกรณีที่มีกรรมการเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับวาระใด ก็จะไม่ร่วมพิจารณาและจะงดออกเสียงในมตินั้น ซึ่งเลขานุการบริษัทฯ จะแจ้งให้กรรมการทุกคนรับทราบก่อนการประชุม
  6. รายงานการประชุมจะถูกสำเนาและนำส่งให้แก่หน่วยงานภายใน และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ภายในระยะเวลาที่กำหนด และถูกจัดเก็บไว้เป็นเอกสารอ้างอิงและตรวจสอบได้ รายงานการประชุมจะไม่สามารถแก้ไขได้หากไม่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุม

ในปี 2566 มีการจัดประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ทั้งสิ้น 7 ครั้ง สัดส่วนการเข้าร่วมประชุมของคณะกรรมการคิดเป็น 85%

คณะกรรมการชุดย่อย

คณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อช่วยกลั่นกรองเรื่องสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ส่วนฝ่ายจัดการจะเป็นผู้บริหารจัดการตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย นโยบาย ที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้และจัดให้มีหน่วยงานสนับสนุนระบบกำกับดูแลกิจการ ได้แก่ เลขานุการบริษัทฯ หน่วยงานบริหารความเสี่ยง หน่วยงานกำกับดูแลปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ หน่วยงานตรวจสอบภายใน และหน่วยงานพัฒนาองค์กรเพื่อความยั่งยืน

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ

  1. สอบทานให้บริษัทฯ มีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ
  2. สอบทานให้บริษัทฯ มีระบบการบริหารความสี่ยง ระบบการควบคุมภายใน ระบบการตรวจสอบภายใน และมีมาตรการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ พิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ตลอดจนพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้าง ประเมินผลการปฏิบัติงานหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบการตรวจสอบ
  3. สอบทานให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริษัทฯ
  4. พิจารณารายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มั่นใจว่าสมเหตุสมผล เป็นประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ
  5. สอบทานและพิจารณาความเสี่ยงสำคัญที่ตรวจพบร่วมกับฝ่ายบริหาร รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไข
  6. จัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยในรายงานประจำปีของบริษัทฯ ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
  7. พิจารณาคัดเลือก เสนอแต่งตั้ง และเสนอค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับผู้สอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  8. พิจารณาความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบและให้ความเห็นต่อฝ่ายจัดการเกี่ยวกับการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลิกจ้าง ผู้จัดการสำนักงานตรวจสอบภายใน
  9. พิจารณาทบทวนกฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  10. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมายและด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ
  11. ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ หากพบหรือมีข้อสงสัยว่ามีรายการหรือการกระทำ ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้คณะกรรมการตรวจสอบ รายงานต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบเห็นสมควร
  12. พิจารณาและให้ความเห็นต่อการติดตามการปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ มีความโปร่งใส ยุติธรรม และดำเนินธุรกิจด้วยการต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน

สรรหาร

  1. กำหนดหลักเกณฑ์และนโยบายในการสรรหากรรมการบริษัทฯ และกรรมการชุดย่อย โดยพิจารณาความเหมาะสมของจำนวนโครงสร้าง และองค์ประกอบของคณะกรรมการ กำหนดคุณสมบัติของกรรมการ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทฯ หรือขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้วแต่กรณี
  2. พิจารณาสรรหา คัดเลือก และเสนอบุคคลที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการบริษัทฯ ที่ครบวาระหรือมีตำแหน่งว่างลงหรือมีการแต่งตั้งเพิ่ม
  3. จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการ
  4. ปฏิบัติการอื่นเกี่ยวกับการสรรหาตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมาย
  5. ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารสูงสุดและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติ
  6. พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การสรรหากรรมการและตารางความรู้ ความชำนาญเฉพาะด้าน (Board Skill Matrix) เป็นประจำทุกปี เพื่อให้ มีองค์ประกอบที่หลากหลายตามแนวปฎิบัติที่ดี

การกำหนดค่าตอบแทน

  1. จัดทำหลักเกณฑ์และนโยบายกำหนดค่าตอบแทนของคณะกรรมการบริษัทฯ และกรรมการชุดย่อย เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทฯ และขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้วแต่กรณี
  2. กำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมทั้งที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงินของคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นรายบุคคล โดยการกำหนดค่าตอบแทนของคณะกรรมการบริษัทฯ ให้พิจารณาความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ ผลงาน และเปรียบเทียบกับบริษัทในธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากกรรมการเสนอให้คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาและนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติ
  3. รับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริษัทฯ และมีหน้าที่ให้คำชี้แจง ตอบคำถามกับค่าตอบแทนของกรรมการในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
  4. รายงานนโยบาย หลักการและเหตุผลของการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร ตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเปิดเผยไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1)
  5. ปฏิบัติการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าตอบแทนตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมาย โดยฝ่ายบริหารและหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องรายงานหรือนำเสนอข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
  6. นำเสนอผลการประเมินคณะกรรมการชุดย่อยทุกชุดต่อคณะกรรมการบริษัทฯ และแนวทางในการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของคณะกรรมการ
  7. พิจารณาเงินเดือนของประธานกรรมการบริหาร (CEO)

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน

เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม บริษัทฯ จึงจัดตั้ง “คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน” ในการบริหารกิจการภายใต้การกำกับดูแลที่ดี คำนึงถึงความยั่งยืนขององค์กรในมิติต่าง ๆ รวมถึงการติดตามและประมวลผลการดำเนินงานในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ (ESG) ในทุกๆปี เพื่อสร้างคุณค่าแก่กิจการ ตลอดจนการดำเนินการต่างๆ ของกลุ่มบริษัทให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

  1. กำหนดเป้าหมาย นโยบาย และแผนการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ โดยครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนและการสร้างคุณค่าระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  2. กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณธุรกิจ และนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติ พร้อมทั้งให้คำแนะนำ ส่งเสริม และทบทวนให้นโยบายดังกล่าวมีความเหมาะสมสอดคล้องกับกฏหมายและแนวปฏิบัติที่ดีในระดับสากลเป็นประจำทุกปี ตลอดจนดูแลให้มีการประเมินผลและรายงานการปฏิบัติตามนโยบายอย่างสม่ำเสมอ
  3. กำกับดูแลการปฏิบัติงานของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามหลักบรรษัทภิบาลของสถาบันกำกับ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากลและข้อเสนอแนะของสถาบันหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  4. กำกับดูแล ประเมินและทบทวนเป้าหมาย นโยบาย และแผนการดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เหมาะสมกับสภาวะการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  5. พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับนโยบายด้านบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นประจำทุกปี
  6. พิจารณาทบทวนกฎบัตรคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นประจำทุกปี
  7. พิจารณาทบทวนนโยบาย และการติดตามการปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ มีความโปร่งใส ยุติธรรม และดำเนินธุรกิจด้วยการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
  8. ดูแลการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทต่อผู้มีส่วนได้เสียใน แบบ 56-1 One Report และรายงานความยั่งยืนประจำปี
  9. ส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมในการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม
  10. รายงานความคืบหน้าและผลการปฏิบัติงานด้านบรรษัทภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อคณะกรรมการบริษัทฯ

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง

  1. กำหนดและทบทวนนโยบายกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กร
  2. กำกับดูแลและสนับสนุนให้มีการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยงองค์กร สอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายทางธุรกิจ รวมถึงสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
  3. พิจารณารายงานผลการบริหารความเสี่ยงองค์กร และให้ข้อคิดเห็นประเด็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงให้แนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมหรือบรรเทา (Mitigation Plan) และการพัฒนาระบบการจัดการบริหารความเสี่ยงองค์กรให้แก่คณะทำงานหรือฝ่ายบริหารความเสี่ยงเพื่อนำไปดำเนินการให้ระบบจัดการมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
  4. รายงานผลการบริหารความเสี่ยงองค์กรให้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้รับทราบ และในกรณีที่มีปัจจัย หรือเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อทราบและพิจารณาโดยเร็วที่สุด
  5. กำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยง และขอบเขตความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของบริษัทฯ เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาในเรื่องการบริหารความเสี่ยงโดยรวม ทั้งนี้ ต้องครอบคลุมความเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านตลาด ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ หรือความเสี่ยงอื่น ๆ ที่มีนัยสำคัญต่อบริษัทฯ
  6. กำหนดกลยุทธ์โครงสร้างองค์การและทรัพยากรที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ โดยสามารถวิเคราะห์ ประเมิน วัดผล และติดตามกระบวนการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิผล
  7. กำกับดูแล ทบทวนและให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับนโยบายการบริหารความเสี่ยง วิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน กลยุทธ์และการวัดความเสี่ยงโดยรวมเพื่อให้มั่นใจได้ว่ากลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงได้นำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสม
  8. ปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมาย

1.3 ฝ่ายจัดการ

ฝ่ายจัดการมีบทบาทในการบริหารงานด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปตามนโยบาย กลยุทธ์ และเป้าหมายที่คณะกรรมการกำหนดไว้

บทบาทหน้าที่ของฝ่ายจัดการ

  1. นำเสนอเป้าหมาย นโยบาย และแผนธุรกิจรวมถึงงบประมาณประจำปีของบริษัทฯ ให้คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาอนุมัติ
  2. ควบคุมดูแลการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามนโยบาย แผนงาน และงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ
  3. พิจารณาอนุมัติการดำเนินงานที่เป็นธุรกรรมปกติธุรกิจของบริษัทฯ เช่น การลงทุนต่าง ๆ ตามงบลงทุน หรืองบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นต้น โดยวงเงินสำหรับแต่ละรายการเป็นไปตามตารางอำนาจอนุมัติที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ
  4. พิจารณาอนุมัติการกำหนด แก้ไข เปลี่ยนแปลง ระเบียบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุมัติสินเชื่อ ตาราง ยอดจัดสินเชื่อรวมถึงการกำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงค่าปรับและส่วนลด
  5. นำเสนอโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสมกับการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาอนุมัติรวมถึงพิจารณาอนุมัติอัตรากำลังคนที่ไม่อยู่ในงบประมาณประจำปี
  6. พิจารณาผลกำไรและขาดทุนของบริษัทฯ การเสนอจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล หรือเงินปันผล ประจำปีเพื่อเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ
  7. มีอำนาจแต่งตั้งหรือว่าจ้างที่ปรึกษา ทีเกี่ยวข้องกับการบริหารงานภายในองค์กรเพื่อให้เกิด ประสิทธิภาพสูงสุด
  8. ให้อำนาจในการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นใด หนึ่งคนหรือหลายคนปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการบริหาร หรืออาจมอบอำนาจเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีอำนาจตามที่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรและภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควร ซึ่งคณะกรรมการบริหารอาจยกเลิก เพิกถอน เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจ หรือการมอบอำนาจนั้น ๆ ได้ตามที่สมควร
  9. ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ มอบหมาย

2. การจัดทำนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และแนวปฏิบัติ

ในปี 2566 คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีการทบทวนปรับปรุงนโยบายและติดตามผลการดำเนินงานตามแผนการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงแผนงานด้านความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ให้สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 หรือ Corporate Governance Code (CG Code) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกอบด้วย

  1. ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการในฐานะผู้นำองค์กรที่สร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน (Establish Clear Leadership Role and Responsibilities of the Board)
  2. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน (Define Objectives that Promote Sustainable Value Creation)
  3. เสริมสร้างคณะกรรมการที่มีประสิทธิผล (Strengthen Board Effectiveness)
  4. สรรหาและพัฒนาผู้บริหารระดับสูงและการบริหารบุคลากร (Ensure Effective CEO and People Management)
  5. ส่งเสริมนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Nature Innovation and Responsible Business)
  6. ดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม (Strengthen Effective Risk Management and Internal Control)
  7. รักษาความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล (Ensure Disclosure and Financial Integrity)
  8. สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น (Ensure Engagement and Communication with Shareholders)

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกรรมการและผู้บริหาร นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการองค์กร และนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสีย

2.1 นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกรรมการและผู้บริหาร

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณจริยธรรมทางธุรกิจ สำหรับกรรมการผู้บริหารและพนักงาน เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยมีการประกาศและสื่อสารให้พนักงานได้รับทราบ รวมทั้งเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ (www.muangthaicap.com) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานของบริษัทฯ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจในหลักการกำกับดูแลกิจการ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยยึดมั่นความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักกฎระเบียบข้อบังคับและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดแนวทางเพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติงานและปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  1. มุ่งมั่นนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ ไปปฏิบัติในการดำเนินงานของบริษัทฯ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฏเกณฑ์ และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างคุณค่าให้บริษัทฯ อย่างยั่งยืน
  2. คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องมีบทบาทสำคัญร่วมกับผู้บริหารในการกำหนดวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ นโยบาย และแผนงานที่สำคัญของบริษัทฯ รวมทั้งจัดโครงสร้างการบริหารที่สอดคล้องและสัมพันธ์กันอย่างเป็นธรรม ระหว่างคณะกรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น โดยมีการวางแนวทางการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจที่มีความเหมาะสม
  3. คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องมีบทบาทสำคัญในการทบทวนและอนุมัติวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ นโยบาย และแนวปฏิบัติของการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นประจำทุกปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง
  4. คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องมีบทบาทสำคัญร่วมกับผู้บริหารในการสื่อสารและติดตามให้เกิดการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ นโยบาย รวมถึงแนวปฏิบัติของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ให้แก่บุคลากรได้รับทราบเพื่อให้เกิดปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  5. กรรมการ และผู้บริหาร ต้องเป็นผู้นำในเรื่องจริยธรรม และเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้
  6. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นแนวทางด้วยความเข้าใจเชื่อมั่น ศรัทธา โดยถือเป็นกิจวัตรจนเป็นวัฒธรรมที่ดีขององค์กร โดยปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่าง เท่าเทียม พร้อมดูแลสอดส่อง ควบคุม ป้องกันการตัดสินใจหรือการกระทำใด ๆ ที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และรายการที่เกี่ยวโยงกัน โดยยึดถือประโยชน์ของบริษัทฯ เป็นที่ตั้ง
  7. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เคารพต่อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน และจะต้องดำเนินการให้มีระบบที่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกคนได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
  8. คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องจัดให้มีระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับเหมาะสม รวมถึงมีระบบบัญชีและรายงานทางการเงินที่มีความถูกต้องเชื่อถือได้
  9. กรรมการ และผู้บริหาร ต้องดำเนินการให้มีการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม สร้างจิตสำนึกอันดีงาม และปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเป็นธรรม ตลอดจนมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
  10. คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องจัดให้โครงสร้างการจัดการของบริษัทฯ มีบรรษัทภิบาลที่ดี มีการกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการแต่ละคณะและผู้บริหารอย่างชัดเจน
  11. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องดำเนินงาน โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
  12. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในการดำเนินธุรกิจ โดยยึดมั่นการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ด้วยการรับฟังและทบทวนตนเอง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารและสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดอยู่เสมอ
  13. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องดำเนินการให้มีการเปิดเผยสารสนเทศที่สำคัญอย่างเพียงพอเชื่อถือได้และทันเวลา
  14. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องดำเนินการให้มีการจัดการภาษีให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยยึดหลักธรรมมาภิบาลที่ดี การจัดการความเสี่ยงด้านภาษีที่ดี และการเปิดเผยเพื่อความโปร่งใส
  15. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ต้องยืดมั่นความเป็นธรรมโดยปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม พร้อมกับดูแลสอดส่อง ควบคุม ป้องกันการตัดสินใจหรือการกระทำใด ๆ ที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และรายการที่เกี่ยวโยงกัน

2.2 นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการองค์กร

1. การบริหารจัดการความเสี่ยง

  • จัดทำแบบฟอร์มความเสี่ยงให้สอดรับกับกระบวนการบริหารจัดการที่ครอบคลุม
  • จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นความเสี่ยง
  • เตรียมความพร้อมด้วยการลงมือปฏิบัติการความเสี่ยงด้วยการจำลองสถานการณ์
  • สอบทานการบริหารความเสี่ยงให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กร
  • ติดตามและประเมินผลการดำเนินการด้านความเสี่ยง ให้เป็นไปตามแผนการจัดการ
  • จัดให้มีการรายงานผลการดำเนินการด้านความเสี่ยงในทุกระดับ และทุกฝ่ายอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
  • สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสมในทุกหน่วยงานในองค์กร

2. การควบคุมภายใน

  • จัดให้มีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสม และมีระบบบัญชีและรายงานทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ
  • ดำเนินการให้โครงสร้างการจัดการของบริษัทฯ มีบรรษัทภิบาลที่ดี มีการกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการแต่ละคณะและผู้บริหารอย่างชัดเจน
  • จัดให้มีการรายงานทางการเงินและการสอบบัญชีที่เชื่อถือได้ รวมทั้งจัดให้มีระบบการควบคุมภายในและระบบการตรวจสอบภายในที่เพียงพอและเหมาะสม
  • สอบทานให้บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายใน (Internal control) และระบบการตรวจสอบภายใน (Internal audit) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

3. การทำรายการระหว่างกัน หรือรายการที่เกี่ยวโยงกัน

  • บริษัทฯ กำหนดให้ใช้ราคาตลาดหรือราคายุติธรรมในการทำธุรกรรมทุกประเภท
  • กรรมการต้องเปิดเผยข้อมูลรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการระหว่างกันตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ห้ามกรรมการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาอนุมัติและกรณีที่มีการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ให้คณะกรรมการตรวจสอบเข้าร่วมพิจารณาให้ความเห็นตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • การให้สินเชื่อหรือลงทุนในกิจการที่กรรมการมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทด้วยมติเป็นเอกฉันท์โดยไม่มีกรรมการผู้นั้นเข้าร่วมพิจารณาอนุมัติด้วย และต้องกำหนดราคาและเงื่อนไขต่าง ๆ ตามการค้าปกติของธนาคารและปฏิบัติเหมือนลูกค้าทั่วไป

4. การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน

  • กำหนดกลยุทธ์ป้องกันการเกิดการทุจริตคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ
  • เพิ่มช่องทางการแจ้งเบาะแสที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีมาตรการคุ้มครองผู้แจ้ง
  • กระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใสและเป็นธรรม
  • กำหนดกระบวนการรายงานสถานะทางการเงินที่ถูกต้อง ชัดเจน และตรวจสอบได้
  • จัดประกาศแสดงเจตจำนงต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • จัดอบรมเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณธุรกิจ และข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน
  • งดเว้นการให้ของขวัญแก่ผู้บริหารหรือพนักงานของบริษัทในทุกเทศกาล

5. การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์

  • เปิดเผยและส่งข้อมูลของบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียให้คณะกรรมการบริษัทฯ ทราบ
  • หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และไม่กระทำการใด ๆ ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัทฯ
  • บุคลากรจะต้องไม่เข้าร่วมประชุม ไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและอนุมัติในวาระที่พิจารณาเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสีย
  • กำกับดูแลและรับผิดชอบให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยงและระบบป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชันที่เหมาะสม
  • คณะกรรมการบริษัทฯ ต้องกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้อง
  • จัดให้มีระบบการทำงานที่ชัดเจน มีการเปิดเผยข้อมูลรายการที่สำคัญตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่องและเชื่อถือได้
  • คณะกรรมการและผู้บริหารต้องรายงานการมีส่วนได้เสีย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของบริษัทฯ เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งเป็นครั้งแรก และให้รายงานทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล

6. การรับแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียน

  • ทุกข้อมูลที่ได้รับแจ้งถือเป็นความลับ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้แจ้งต่อสาธารณะชนโดยมิได้รับการยินยอม
  • รายละเอียดของเบาะแสหรือข้อร้องเรียนต้องเป็นความจริง มีความชัดเจนเพียงพอที่จะสืบหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการต่อไปได้
  • ระยะเวลาตอบกลับผู้ร้องเรียนไม่ควรเกิน 3 วัน หลังจากได้รับข้อร้องเรียน
  • ระยะเวลาในการดำเนินการขึ้นอยู่กับหลักฐานที่ได้รับจากผู้ร้องเรียน หลักฐานและคำชี้แจงของผู้ถูกร้องเรียน แต่ไม่เกิน 30 วันทำการ
  • ผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน จะได้รับความคุ้มครองสิทธิ
  • ผู้รับข้อร้องเรียนและผู้ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ต้องเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นความลับ เปิดเผยเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความเสียหายของผู้ร้องเรียน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

7. ทรัพย์สินทางปัญญา

  • บริษัทฯ ไม่สนับสนุนการดำเนินการที่มีลักษณะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การใช้งานซอฟต์แวร์ใด ๆ ในระบบงานของบริษัทฯ ต้องได้รับอนุญาตและมีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
  • พนักงานต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับกฎหมาย ข้อบังคับ และข้อผูกพันตามสัญญาทั้งหมด เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกต้อง รวมถึงสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ ความลับทางการค้าและข้อมูลกรรมสิทธิ์อื่น ๆ โดยจะไม่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น
  • พนักงานที่นำผลงานหรือข้อมูลอันเป็นสิทธิของบุคคลภายนอกที่ได้รับมาหรือที่จะนำมาใช้ภายในบริษัทฯ จะต้องตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น
  • พนักงานที่ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ จะต้องใช้ซอฟต์แวร์ตามข้ออนุญาตของเจ้าของ ลิขสิทธิ์ และเฉพาะที่ได้รับอนุญาติให้ใช้งานจากบริษัทฯ เท่านั้น
  • เมื่อพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน จะต้องส่งมอบทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ รวมถึงผลงานต่าง ๆ คืนให้บริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เก็บไว้ในรูปแบบใดก็ตาม

8. การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

  • เปิดเผยข้อมูลสำคัญสู่สาธารณะผ่านช่องทางเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ เว็บไซต์บริษัทฯ หรือรายงานประจำปี
  • เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการถือหุ้น รวมถึงรายการเกี่ยวโยงและการมีส่วนได้เสียของกรรมการและผู้บริหาร
  • จัดส่งรายงานทางการเงินต่อสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อย่างครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด
  • แต่งตั้งผู้สอบบัญชีที่มีคุณสมบัติไม่ขัดกับหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ และไม่ได้ให้บริการอื่น ๆ แก่บริษัทฯ
  • จัดให้มีหน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์ เช่น จัดให้มีการประชุมนักวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
  • งบการเงินของบริษัทฯ ได้รับการรับรองโดยไม่มีเงื่อนไขจากผู้สอบบัญชี
  • การซื้อ-ขายหุ้นของบริษัทฯ กำหนดนโยบายให้กรรมการและผู้บริหารต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบอย่างน้อย 1 วันล่วงหน้าก่อนทำการซื้อ-ขายหุ้น
  • เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการ ประกอบด้วย ตำแหน่ง การศึกษา การถือหุ้นบริษัทฯ ประสบการณ์ทำงานและภาพถ่าย ระบุไว้อย่างชัดเจน
  • เปิดเผยหลักเกณฑ์การให้ค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารไว้ในรายการประจำปีอย่างชัดเจน
  • ให้ความสำคัญต่องานนักลงทุนสัมพันธ์ มีการพบปะ ให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่เสมอ

9. การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

  • บริษัทฯ ดำเนินกิจการภายใต้หลักธรรมภิบาล พร้อมทั้งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอย่างเคร่งครัด อาทิเช่น การเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมต่อความต้องการของลูกค้า คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ การโฆษณาและแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน
  • บริษัทฯ ปรับมาตรการช่วยเหลือให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านโครงการ “คลีนิคแก้หนี้” กว่า 7,536 สาขาทั่วประเทศ
  • ส่งเสริมวินัยและให้ข้อมูลการบริหารจัดการทางการเงินให้แก่ลูกค้า ผ่านช่องต่างๆ เช่น lineOA, Facebook และ เว็บไซต์บริษัท เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้นและสามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง (responsible borrowing)
  • บริษัทฯ กำหนดให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานตามนโยบายและระเบียบปฏิบัติด้านการให้บริการสินเชื่อเป็นประจำ เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานสอดคล้องตามนโยบายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจัดทำและจัดส่งรายงานในรูปแบบและความถี่ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

10. การป้องกันการฟอกเงินและการสนับสนุนการเงินต่อการก่อการร้าย

  • บริษัทฯ มีการสร้างหรือปฏิเสธความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรมกับลูกค้า กรณีที่ลูกค้าเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
    • - เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามที่สำนักงาน ปปง. ได้ประกาศไว้
    • - ปกปิดชื่อจริง ใช้ชื่อแฝง หรือใช้ชื่อปลอม แจ้งเท็จข้อมูล หรือแสดงเอกสารหลักฐานสำคัญเท็จ
    • - ไม่ได้รับข้อมูลหรือหลักฐาน ซึ่งมีความสำคัญในการระบุตัวตนขอลูกค้า หรือข้อมูลที่ลูกค้าให้ไม่เพียงพอ
  • บริษัทฯ กําหนดให้ลูกค้าต้องแสดงตนทุกครั้งก่อนสร้างความสัมพันธ์ทําธุรกรรมเพื่อให้บริษัทฯ สามารถระบุและพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าตามกฏหมาย กฏเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และกฏเกณฑ์ทางการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการจัดให้มีการรู้จักตัวตนลูกค้า (Know Your Client: KYC) และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงของลูกค้า (Client Due Diligence: CDD) ทั้งลูกค้าที่สร้างความสัมพันธ์ต่อหน้า (Face-to-face channel) และลูกค้าที่ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ต่อหน้า (Non-face-to-face channel)
  • การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ต้องมีการจัดลำดับความเสี่ยงของลูกค้าโดยพิจารณาจากปัจจัยดังนี้ ปัจจัยเกี่ยวกับพื้นที่หรือประเทศ ปัจจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ใช้ ปัจจัยเกี่ยวกับอาชีพหรือสถานะของลูกค้า เช่น การมีสถานภาพทางการเมือง (PEPs)
  • บริษัทฯ มีกระบวนการติดตามและสอบทานความเคลื่อนไหวทางบัญชีของลูกค้าอย่างต่อเนื่องจนยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจตามแนวทางที่กฏหมายกำหนด เพื่อประเมินว่าลูกค้าทำธุรกรรมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ อาชีพ และแหล่งที่มาของรายได้ที่แจ้งแก่บริษัทฯ หรือไม่
  • บริษัทฯ มีการรายงานธุรกรรมตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด เช่น ธุรกรรมที่ใช้เงินสด และธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย รวมถึงติดตามธุรกรรมใดๆ ของลูกค้าที่เกี่ยวข้องหรือมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
  • บริษัทฯ กำหนดให้มีการจัดเก็บข้อมูล เอกสารและหลักฐานการแสดงตน การระบุตัวตน และการตรวจทานความเคลื่อนไหวการทำธุรกรรม หรือเอกสารหลักฐานอื่นใดของลูกค้า ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
  • บริษัทฯ กำหนดมิให้เปิดเผยข้อมูลหรือกระทำการใดๆ อันอาจมีผลทำให้ลูกค้าทราบ เกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า การรายงานการทำธุรกรรมหรือการส่งข้อมูลอื่นใดไปยังสำนักงาน ปปง.
  • บริษัทฯ กำหนดให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานตามนโยบายและระเบียบปฏิบัติด้านการป้องกันการฟอกเงิน การสนับสนุนการก่อกการร้าย อย่างเป็นประจำทุกปี (Self Assessment) เช่น การตรวจสอบกระบวนการและระบบรายงานธุรรรมของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานสอดคล้องตามนโยบายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

2.3 นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสีย

1. นโยบายและแนวปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้น

  • บริษัทฯ ให้ความเคารพแก่สิทธิของผู้ถือหุ้น นักลงทุน และเจ้าหนี้ทุกรายอย่างเสมอภาค
  • มีการจัดกระบวนการประชุมผู้ถือหุ้น โดยสนับสนุนให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียม
  • กำกับดูแลให้ผู้ถือหุ้นได้รับการปฏิบัติและปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน
  • มีมาตรการป้องกันกรณีที่กรรมการและผู้บริหารใช้ข้อมูลภายในให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ

2. นโยบายและแนวปฏิบัติต่อเจ้าหนี้

  • จัดทำสัญญากับเจ้าหนี้ทุกประเภทอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เสมอภาคเป็นธรรม และโปร่งใสโดยไม่เอาเปรียบคู่สัญญา
  • บริษัทฯ มีนโยบายที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไข สัญญา และข้อผูกพันที่ตกลงกันไว้กับเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด
  • บริษัทฯ ไม่เคยมีข้อพิพาทใด ๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ โดยบริษัทฯ จ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ตรงตามเงื่อนไขการชำระเงินที่ได้ตกลงไว้
  • กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีเหตุทำให้ผิดนัดชำระหนี้ ต้องรีบแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบโดยไม่ปกปิดข้อเท็จจริง
  • รายงานฐานะและข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้องแก่เจ้าหนี้ ไม่ปกปิดสถานะการเงินที่แท้จริงของบริษัทฯ

3. นโยบายและแนวปฏิบัติต่อลูกค้า

  • จัดให้มีการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าอย่างถี่ถ้วน
  • พัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
  • ดำเนินการส่งเสริมการตลาดอย่างเหมาะสม และไม่กระตุ้นการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น
  • พัฒนาช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าให้ลูกค้าสามารถติชม ร้องเรียน การให้บริการผ่านช่องทางอื่น ๆ อาทิ สายด่วน อีเมล สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งแอปพลิเคชัน ช่องทางรับเรื่องร้องเรียน (Whistleblower Channel)
  • ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และไม่ปฏิบัติการใด ๆ อันจะละเมิดสิทธิอันพึงมีของลูกค้า
  • ตระหนักถึงสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยกำหนดนโยบายการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลิ และความมั่นคงของระบบสารสนเทศดังเปิดเผยในหน้าเว็บไซต์ของบริษัท

4. นโยบายและแนวปฏิบัติต่อคู่ค้า

  • ไม่เรียกหรือไม่รับหรือจ่ายผลประโยชน์อันใด ที่ไม่สุจริตในการค้ากับคู่ค้า
  • แจ้งแผนการดำเนินงาน เพื่อให้คู่ค้าสามารถทราบจำนวนที่จะจำหน่ายสินค้าหรือบริการได้ในปีนี้ รวมถึงนำไปวางแผนการผลิต และจัดส่ง เพื่อป้องกันปัญหาที่ตามมา
  • ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด และมีการชำระหนี้ที่ตรงตามเวลาเป็นไปตามกฏระเบียบและแนวปฏิบัติของบริษัทฯ ภายในระยะเวลา 30 วัน

5. นโยบายและแนวปฏิบัติต่อคู่แข่งธุรกิจ

  • ปฏิบัติภายใต้กรอบกติกาของการแข่งขันที่ดี
  • ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสม รวมถึงการไม่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจ
  • ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางร้าย
  • หลีกเลี่ยงการทำข้อตกลงกับคู่แข่งหรือผู้ประกอบธุรกิจอื่น ในลักษณะที่ผูกขาด จำกัด หรือลดการแข่งขันในตลาด

6. นโยบายและแนวปฏิบัติต่อคู่แข่งธุรกิจ

  • บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและใบอนุญาติประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ใบอนุญาต รวมถึงการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) และการรายงานข้อมูลต่อหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง โปร่งใส และทันเหตุการณ์

3. ติดตามให้มีการปฏิบัติ

บริษัทฯ กำหนดให้คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการอยู่เสมอ ด้วยการรายงานความคืบหน้าและผลการปฏิบัติงานด้านการกำกับดูแลต่อคณะกรรมการบริษัทฯ ปีละ 2 ครั้ง ตลอดจนทบทวนและเสนอให้คณะกรรมการมีการพิจารณาแก้ไขขอบเขตอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์

4. เปิดเผยผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการต่อผู้มีส่วนได้เสีย

คณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อยทุกชุดต้องสรุปผลการดำเนินงาน ในแบบ 56-1 One Report เป็นประจำทุกปี เพื่อความโปร่งใสและมั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ จะบรรลุวัตถุประสงค์ เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานกำกับ และสามารถสร้างคุณค่าให้แก่บริษัทฯ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน